งานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณ 40% ของอาชีพในปัจจุบันจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมาแทนที่
แม้จะยังไม่มีการลงรายละเอียดว่า ตำแหน่งงานใหม่ที่จะมาแทนที่นั้น เป็นตำแหน่งและงานอะไรบ้าง แต่แน่นอนที่สุด ต้องเป็นงานที่ใช้ทักษะ หรือ Skill set ใหม่ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า การศึกษานับจากวันนี้ จะต้องสร้างคนที่ไม่ใช่มีแค่ความรู้
แต่ต้องมีทักษะรอบด้านที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งใกล้เข้ามาทุกขณะ
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต และ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA MEO STEM-ED) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือพัฒนา STEM–ED หรือ สะเต็มศึกษา ที่ครอบคลุมทั้งการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะวิชาชีพและการวิจัย เพื่อส่งเสริมคุณภาพเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 โดยจะเป็นต้นแบบแนวปฏิบัติระดับนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาประเทศในระยะยาว ก่อนต่อยอดใช้เป็นโมเดลการศึกษาอาเซียนต่อไป
สะเต็มศึกษา คืออะไร เป็นสิ่งที่หลายคน อาจจะตั้งคำถาม ทั้งๆที่จริงๆแล้ว STEM-ED หรือสะเต็มศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว คำว่า STEM ถูกใช้ครั้งแรกโดย สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the National Science Foundation : NSF) ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering and Mathematics เป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริงให้ได้ โดยทุกสาขาวิชามีความสำคัญเหมือนกัน ที่ต้องมีการจัดการการเรียนโดยบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน
ยิ่งเมื่อรัฐบาลตั้งเป้าหมายนำพาประเทศเข้าสู่โมเดล “Thailand 4.0” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่...เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นั่นหมายความว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องปรับ เปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมด้วยเช่นเดียวกัน จากการเรียนที่เน้นความจำ เปลี่ยนเป็น Creative Learning ที่เน้นการคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) บอกว่า STEM เป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาโลก ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เท่าทันสถานการณ์และบริบทโลกได้
“ปัจจุบันชาติอาเซียนกำลังเผชิญปัญหาคล้ายกันที่ล้วนสัมพันธ์กับสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะขาดการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้น กับดักรายได้ปานกลางไปได้ ด้วยศักยภาพของศูนย์ SEAMEO STEM-ED ผมคาดหวังว่าจะสามารถนำแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไปพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาด้านการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนต่อไปได้”
ขณะที่ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.ศูนย์ SEAMEO STEM-ED บอกว่า ศูนย์ SEAMEO STEM-ED มุ่งเน้นการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาเข้าสู่ระดับนโยบายของประเทศ โดยเข้าไปบริหาร “โครงการ Chevron Enjoy Science ระยะ 2” ด้วยการส่งเสริมและให้ข้อแนะนำถึงการเรียนรู้สะเต็มศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน รวมถึงจัดทำวิจัยเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายทางการศึกษาและแนวปฏิบัติให้เป็นที่ยอมรับ
ผอ.ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ให้ข้อมูลว่า กรอบการทำงานในโครงการนี้ มีด้วยกัน 3 ด้าน คือ 1.ด้านนโยบายสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 2.พัฒนาจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาผ่าน 3 กิจกรรม STEM Professional Academy เพิ่มศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา STEM Learning Modules พัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้และจัดเวทีวิชาการ และ STEM Career Academies แนะแนวทางศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพิ่มทักษะจำเป็น และสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพด้านสะเต็ม และ 3.ส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านสะเต็มที่เหมาะกับบริบทของประเทศ
“ข้อค้นพบที่ได้จากโครงการฯ และผลการดำเนินงานจะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียน หรือ SEAMEO Congress ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีหน้า” ดร.พรพรรณ บอก
ไพโรจน์ วียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy Science ที่ดำเนินงานรูปแบบ “รัฐร่วมเอกชน” ภายใต้ระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ.2558-2565) ด้วยงบประมาณกว่า 1,160 ล้านบาท ซึ่งการที่เชฟรอนฯ เข้ามาร่วมมือกับศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นการย้ำว่าสะเต็มศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องต่อยอดสู่ระดับนโยบายแต่ละประเทศ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์สะเต็ม 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการสื่อการเรียนรู้ การพัฒนาครูต้นแบบ พัฒนาหลักสูตร และติดตามประเมินผลต่อเนื่อง โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 724 แห่ง มีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 3 ล้านคน
เมื่อวันนี้ ทุกคนบนโลกไม่มีใครสามารถอยู่แบบเดิมได้อีกแล้ว การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ คือ เทรนด์ของการศึกษาโลก คนปลูกผักจะรู้เรื่องผัก หรือเรื่องเกษตรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นเกษตรที่มีนวัตกรรม และต้องรู้เรื่องตลาด เรื่องการค้าควบคู่ไปด้วย หรือแฟชั่นนิสต์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ จะรู้แค่เรื่องแฟชั่นกับดีไซน์ ไม่พอแล้ว ต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรม แพลตฟอร์มต่างๆหรือแม้แต่การทำบัญชี
คิดเล่นๆก็คือ คำขวัญแบบโบราณที่ว่า “รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว” คงใช้ไม่ได้สำหรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว.
อ่านเพิ่มเติม...
September 12, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/32oiEZT
"STEM-ED" สะเต็มศึกษา สร้างนักคิด...ผลิตนวัตกรรม - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3ch704S
Home To Blog
No comments:
Post a Comment